ประเด็นร้อน
5 ปีหมาเฝ้าบ้าน...พลังสังคมเพื่อการเปลี่ยนแปลง
โดย ACT โพสเมื่อ Nov 15,2017
- - สำนักข่าวแนวหน้า - -
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
ต่อตระกูล: วันนี้ต้องมาเล่าชื่นชมกลุ่ม"หมาเฝ้าบ้าน"ที่ทำหน้าที่เฝ้าบ้านเมืองได้อย่างยอดเยี่ยมตลอดเวลา 5 ปีตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มขึ้นมา หมาเฝ้าบ้านเหล่านี้ช่วยดูแลเงินของพวกเราที่หลายครั้งถูกเจ้าหน้าที่รัฐนำไปใช้จ่ายอย่างไม่เหมาะสมหรือถึงขั้นเกี่ยวข้องกับการทุจริต เพื่อให้เงินของประชาชนตกถึงมือประชาชนโดยไม่ให้ตกหล่นเข้าไปกระเป๋าใคร
ล่าสุดมีตัวอย่างที่เห็นชัดเจนมาก เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้เอง สมาชิกกลุ่มหมาเฝ้าบ้านพบว่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กอนุบาลถึงประถมต้น ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่ได้รับงบประมาณมามื้อละ 20 บาทต่อหัว มีแค่ขนมปังปี๊บมีไส้ 2 ชิ้น และข้าวราดน้ำพะโล้ที่มีเศษหมูชิ้นเล็กๆเพียง 3 ชิ้น เรียกว่าเด็กนักเรียนไม่มีทางกินอิ่มเลย ไม่ต้องพูดถึงว่า จะมีแรงสมองที่ไหนไปนั่งเรียนหนังสือต่อในช่วงบ่าย
พอกลุ่มหมาเฝ้าบ้านไปถ่ายรูปถาดเศษอาหารของเด็กนักเรียนที่น่าสงสารเหล่านี้มาเปิดโปงได้ไม่ถึงสัปดาห์ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทันที จากที่มีเศษขนมปังกับเศษหมู กลายเป็นอาหารเต็มถาดหลุม ครบตรงที่กำหนดไว้ในงบฯอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน 20 บาทต่อหัว ที่จะต้องจัดให้มีข้าวหนึ่งกับข้าวสองอย่างเป็นโปรตีนสัตว์กับผัก โดยเป็นแห้งหนึ่ง น้ำหนึ่ง และขนมหรือผลไม้หนึ่ง เด็กๆจึงได้กินเต็มอิ่ม มีแรงตั้งใจเรียนหนังสือมาเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป เพราะมีหมาเฝ้าบ้านกลุ่มนี้เป็นฮีโร่คอยเฝ้าระวัง
ต่อภัสสร์: หมาเฝ้าบ้านเหล่านี้เป็นใครกันครับ ทำไมเขาถึงมาช่วยดูแลเงินของพวกเราแบบนี้
ต่อตระกูล: โครงการหมาเฝ้าบ้านนี้เป็นขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่ตั้งขึ้นมาพร้อมๆกับการก่อตั้งองค์กรในปี พ.ศ.2555 ถึงปีนี้ จึงพอนับได้ว่าเป็นโครงการที่ทำมานานถึง 5 ปีแล้ว หมาเฝ้าบ้านเป็นโครงการอาสาสมัคร รับคนที่มีจิตสาธารณะ ไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชัน และพร้อมที่ลงมือสู้โกงด้วย กลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้จะได้รับการฝึกอบรมในการดมกลิ่น คือ แสวงหาเบาะแส ขุดคุ้ย คือ สืบสวนเชิงลึก และนำข้อมูลที่ได้พร้อมหลักฐานมาเปิดโปงต่อสาธารณะ ปัจจุบันผ่านมา 5 ปี กลุ่มหมาเฝ้าบ้านได้เติบใหญ่ขยายกระจายออกไปทั่วประเทศ ที่ปฏิบัติการอยู่มีจำนวนกว่า 700 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการอบรมอาสาสมัครหมาเฝ้าบ้านนี้ตามจังหวัดทั่วประเทศเป็นประจำ
ต่อภัสสร์: คำว่า "หมาเฝ้าบ้าน" นี้น่าจะมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Watchdog ซึ่งนอกจากจะหมายถึงหมาเฝ้าบ้านจริงๆ แล้ว ยังหมายถึงยามรักษาการได้ด้วยและมักใช้เรียกนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ที่ทำหน้าที่เฝ้าดูแลบ้านเมือง แล้วคอยรายงานเหตุการณ์ความไม่ชอบมาพากลต่อสาธารณะ โดยใช้การเขียนและตีพิมพ์ลงในหน้าหนังสือพิมพ์ เปรียบเสมือนหมาที่คอยเห่าหอนเมื่อเห็นสิ่งแปลกปลอมจะเข้ามาในบ้าน จะเป็นอันตรายต่อเจ้าของ
ต่อตระกูล: ใช่แล้ว ในกรณีนี้ อาสาสมัครหมาเฝ้าบ้านกลุ่มนี้ ถึงแม้ไม่มีอาชีพประจำเป็นนักข่าวสืบสวนสอบสวน แต่ก็ทำหน้าที่คล้ายกันได้อย่างยอดเยี่ยม นอกจากการเปิดโปงเรื่องอาหารกลางวัน เด็กนักเรียน ที่พ่อเล่าในตอนต้นแล้ว ยังมีอีกหลายๆกรณีที่กลุ่มหมาเฝ้าบ้านเป็นผู้ดมกลิ่นเจอ ขุดคุ้ย และเปิดโปง จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เช่น กรณีบริษัทเครื่องดื่มแห่งหนึ่งได้รับอนุญาตให้เข้าไปสร้างโรงงานในเขตพื้นที่ป่าสมบูรณ์ โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่ป่าแห้งแล้ง หมาเฝ้าบ้านขุดคุ้ยไปจนถึงต้นตอคนอนุญาต จนในที่สุดบริษัทนี้ต้องถอยหนีไป อีกกรณีหนึ่ง หมาเฝ้าบ้านไปดมกลิ่น เจอบนเฟซบุ๊คว่ามีผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นอนุมัติให้ใช้งบประมาณแผ่นดินพาภรรยาไปท่องเที่ยวต่างประเทศได้ ผิดทั้งวินัยทั้งอาญา จนในที่สุดผู้บริหารคนนี้ถูกให้ออกจากราชการ และอีกหลายๆ กรณีที่หมาเฝ้าบ้านดมกลิ่น ขุดคุ้ยพบการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสม พอเปิดโปงออกมา ก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เหตุการณ์เช่นนี้ยืนยันให้เห็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดของความโปร่งใสในการแก้ปัญหาการทุจริต
ต่อภัสสร์: แล้วการเปิดโปงของหมาเฝ้าบ้านกลุ่มนี้ทำกันอย่างไรครับ
ต่อตระกูล:อย่างที่กล่าวไปแล้ว เดิมทีมีอยู่เพียงกลุ่มนักหนังสือพิมพ์และนักข่าววิทยุโทรทัศน์ ที่ทำหน้าที่หมา เฝ้าบ้านให้ประชาชน คอยตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคม และนำมาตีแผ่ความจริงในข่าวกระแสหลักต่างๆ ข้อด้อยก็คือ ขยายขนาดได้ยาก เพราะถ้าจะทำเอง ก็มีต้นทุนสูงมาก ต้องเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ เจ้าของสถานีส่งวิทยุ เจ้าของสถานีส่งโทรทัศน์ หรือมีเงินทุนเพื่อซื้อสัมปทานสื่อต่างๆจากรัฐ ถ้าไม่เป็นเจ้าของ แล้วเลือกซื้อหน้าข่าวมาเขียนเอง ก็ราคาแพงมาก แต่ปัจจุบันมีสื่อสาธารณะ มีรูปแบบเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ทำให้คนทั่วไปสามารถนำเสนอข่าวสารสู่สังคมได้ ไม่จำกัดเพียงกลุ่มนักข่าวหนังสือพิมพ์วิทยุโทรทัศน์เท่านั้น สื่อรูปแบบใหม่ๆนี้แหล่ะทำให้คนเพียง 700 คน สามารถเป็นหมาเฝ้าบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ต่อภัสสร์: ผมเห็นด้วยกับพัฒนาการนี้นะครับ อย่างไรก็ตาม คนเพียง 700 คน ไม่มีทางเพียงพอเมื่อเทียบกับงานที่ต้องช่วยกันเฝ้าดูเป็นหมื่นๆแสนๆเรื่องในแต่ละปี ถ้าต้องดมก็ผลัดกันดมจนจมูกตัน ถ้าต้องขุดคุ้ยก็ขุดกันจนนิ้วหักเลยล่ะครับ จริงๆแล้ว ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน เราสามารถเชิญชวนพลเมืองที่ตื่นรู้แล้ว มาร่วมเป็นหมาเฝ้าบ้านกันได้จำนวน มากๆพร้อมๆกันได้เลยนะครับ ตัวอย่างการทำแบบนี้คือ โครงการพลเมืองนักข่าว สืบสวนสอบสวน บนเฟซบุ๊คเพซชื่อต้องแฉ MustShare+ ที่เป็นพื้นที่กลางให้ประชาชนทั่วไปสามารถนำเสนอเรื่องราวไม่ชอบมาพากล เพื่อให้นักข่าวสืบสวนสอบสวนมืออาชีพทำการค้นหาข้อมูลเชิงลึกเพิ่ม และถามหาข้อมูลเพิ่มเติมจากประชาชนคนอื่นๆที่อาจประสบพบ เหตุการณ์คล้ายๆกัน มาเป็นหลักฐานสนับสนุน นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงจริงที่มาจากประชาชนทั่วไป
ต่อตระกูล: ถ้าทำได้แบบนี้ การเปิดโปงเรื่องทุจริตจะเป็นระบบมากขึ้น นำไปสู่การป้องกันคอร์รัปชันที่มีประสิทธิผลด้วย พ่อนึกไปถึงว่า ถ้าเอาโครงการเช่นนี้ ไปสนับสนุนการทำงานของโครงการอื่นๆ เช่น หมาเฝ้าบ้าน มีอาสาหมาเฝ้าบ้านตัวเล็กๆเพิ่มขึ้นอีกเป็นแสนเป็นล้านคน มาช่วยกันดมกลิ่นและส่งข้อมูลให้หมาที่เชี่ยวชาญ สืบค้นเชิงลึกต่อ หรือโครงการข้อตกลงคุณธรรมที่ปัจจุบันต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์มากมาสังเกตการณ์การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ถ้าได้ลูกเพจต้องแฉมาให้ข้อมูลว่า สินค้าประเภทนี้ราคาสูง เกินไปนะ หรือสินค้ายี่ห้อนี้คุณภาพไม่ดีไม่ควรซื้อ ผู้สังเกตการณ์เหล่านี้ก็จะทำงาน ได้ง่ายและเร็วขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว
จะเห็นว่า ที่ผ่านมามีการสร้างความตื่นรู้เรื่องปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดโครงการ เกิดการรวมกลุ่มต่อต้านคอร์รัปชันเป็นจำนวนมาก รวมถึงโครงการดีๆ อย่างหมาเฝ้าบ้านนี้ด้วย ขั้นต่อไปคือ การเปิดช่องทางให้พลเมืองที่ตื่นรู้แล้วนี้ สามารถลงมือสู้โกงได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ร่วมเป็นอาสาสมัครหมาเฝ้าบ้าน แบบนี้สังคมไทยมีความหวังรอดพ้นจากภัยคอร์รัปชันได้แน่นอนครับ
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน